บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

หลักการใช้ ณ น

พยัญชนะไทย 44 ตัว เมื่อแบ่งเป็นพยัญชนะเดิม พยัญชนะเติม และพยัญชนะกลาง

ณ เป็นพยัญชนะเดิมจึงใช้เขียนคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต ส่วน น เป็นพยัญชนะกลางจึงใช้เขียนคำในภาษาไทยและภาษาอื่นๆ ทั่วไป

1. การใช้ ณ

1.1 ใช้เขียนคำภาษาบาลีสันสกฤตโดยทั่วๆ ไปทั้งที่เป็นพยัญชนะต้นและพยัญชนะสะกด เช่น

พยัญชนะต้น 

คณิกา คเณศ  คณะ  ธนาณัติ  ปณิธาน  พานิช  พาณิชย์  คณาจารย์  คุณากร

พยัญชนะสะกด 

กัณหา  กสิณ  คำนวณ  ญาณ  ทักษิณ  บัณเฑาะว์  บิณฑบาต  ปฏิภาณ  ปราณ

1.2  ใช้ ณ ตามหลัง ร ฤ ษ เมื่อ ณ มีรูปสระ หรือเสียงสระกำกับ  ดังนี้

  ตามหลัง ร เช่น

กรณี  การณ์  กรุณา  ธรณี  บรรณสาร  บูรณะ  กรรณิการ์   ทัศนูปกรณ์  ปฏิสังขรณ์  พิจารณา  พยากรณ์   มรณะ  มหรรณพ  แถลงการณ์  วรรณะ         วารุณี  วิจารณ์

  ตามหลัง ฤ  เช่น

ตฤณ  ตฤณมัย  ตฤณชาติ 

  ตามหลัง ษ  เช่น 

กฤษณา  โฆษณา  ดุษณี  ดำฤษณา  ตฤษณา 

1.3 ใช้ ณ ตามหลัง ร ฤ ษ ในกรณีที่มีสระและพยัญชนะวรรค กะ วรรค ปะ หรือพยัญชนะ  ย ว ห  คั่นอยู่ เช่น 

กษาปณ์  เกษียณ  จักรปาณี  ตรีโกณ  นารายณ์  บริเวณ  บริคณห์  ปริมาณ   พราหมณ์  พราหมณี  เอราวัณ   อารมณ์

1.4  แม้ว่าคำเดิมจะใช้ น แต่ถ้านำคำนั้นมาประกอบคำใหม่ตามหลัง ร ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้ ณ เช่น

ประ + นาม
เขียนเป็น
ประณาม
ประ + มาน
เขียนเป็น
ประมาณ
ประ + นม
เขียนเป็น
ประณม

2. การใช้ น

2.1  การเขียนคำในภาษาไทยทั้งที่ใช้เป็นพยัญชนะต้นและพยัญชนะสะกด เช่น

นาก  นอน  นิ่ง  นิ่ม  แน่น  โน่น  นอน  แนบ  โยน  ร้อน  ลน  วาน  สอน  หอน  จาน  ปีน

2.2  ใช้เขียนคำภาษาบาลีสันสกฤตตามลักษณะเดิม เช่น

กฐิน  กนก  กันดาร  ขันธ์   ขันติ  คมนาคม  คิมหันต์  จันทร์   ชนม์  ชนินทร์  เดรัจฉาน  ทัศนาจร  นวรัตน์  เทศนา  ปนัดดา  ปัจจุบัน  ไพชยนต์  อจินไตย  อินทร์  ฯลฯ

2.3 ใช้ตามหลัง  ร ฤ ษ  เมื่อทำหน้าที่เป็นพยัญชนะสะกด  เช่น

กริน คฤนถ์ ปักษิน ฯลฯ

2.4  ใช้เขียนคำภาษาต่างประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษาสันสกฤต เช่น 


ปั้นเหน่ง  รำมะนา  กระยาหงัน  ระเด่น  กำนัน  ตานี  กานพลู  ขันที  หญ้า  ฝรั่น  เขนย  จังหัน  ระเบียน  กำเนิด   ปสาน  สนม  กิโมโน  กำปั่น  กัปตัน  ชิมแปนซี  แกรนิต  คลอรีน  ซีเมนต์   เซ็น  เซนติเมตร  ไดนาโม  ไซเรน  เซียน



3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ12 พฤษภาคม 2557 เวลา 04:27

    พณณพัชร์ อ่านว่า พัน นะ พัด หรือไม่เพราะอะไร

    ตอบลบ
  2. น่าจะไปถามเสฐียรพงษ์ วรรณปก

    ถ้าเป็นภาษาไทย "พณณพัชร์" ควรอ่าน "พน-นะ-พัด" เหตุผล คำว่า "พณ" เป็นสระโอะลดรูป

    ถ้าต้องการให้อ่าน "พัน-นะ-พัด" ต้องเขียน "พัณณพัชร์" เหตุผล คำว่า "พัณ" เป็นสระอะ เปลี่ยนรูปเป็นไม้หันอากาศ

    เหตุผลทั้งหมด หลักภาษาไทยเป็นอย่างนั้น

    แต่ถ้าคุณต้องการจะเขียนว่า "พณณพัชร์" แต่ให้อ่าน "พัน-นะ-พัด" คุณก็ทำได้ เพราะ เป็นชื่อเฉพาะของคุณ

    แต่คนจะอ่านชื่อคุณผิดตลอด

    ตอบลบ