บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ข้อสอบการสะกดคำ ชุดที่ 2

ขอให้ท่านทำข้อสอบก่อน โดยจดคำตอบไว้ แล้วไปดูเฉลยด้านล่าง

ข้อที่  1.  ข้อใดเขียนถูกอักขรวิธี
ก.  ตาลโขมย
ข.  ตาลขโมย
ค.  ตานขโมย
ง.  ตานโขมย

ข้อที่  2.  ข้อใดเขียนถูกอักขรวิธี
ก.  กากบาด
ข.  กากบาท
ค.  กากะบาด
ง.  กากะบาท

ข้อที่  3.  ข้อใดเขียนถูกอักขรวิธี
ก.  กบฎ
ข.  กฎหมาย
ค.  มงกุฎ
ง.  ปรากฏ

ข้อที่  4.  ข้อใดเขียนถูกอักขรวิธี
ก.  พิศมร
ข.  พิศดาร
ค.  พัศดุ
ง.  พิษณุโลก

ข้อที่  5.  ข้อใดเขียนถูกอักขรวิธี
ก.  มันสัมปหลัง
ข.  มันสัมปะหลัง
ค.  มัสสำปหลัง
ง.  มันสำปะหลัง

เฉลย

ข้อที่  1.  ข้อใดเขียนถูกอักขรวิธี
ก.  ตาลโขมย
ข.  ตาลขโมย
ค.  ตานขโมย
ง.  ตานโขมย

วิเคราะห์

คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ค.
คำว่า “ตานขโมย” พจนานุกรมเขียนไว้ดังนี้
ตานขโมย ๑  น. ชื่อโรคพยาธิลําไส้อย่างหนึ่ง มักเป็นแก่เด็กอายุประมาณ ๕ ขวบขึ้นไป มีลักษณะผอม ท้องป่อง ก้นปอด แต่กินอาหารได้มาก มีอาการปวดท้องและซึม.
ตานขโมย ๒   น. (๑) ชื่อไม้พุ่มรอเลื้อยชนิด Tournefortia intonsa Kerr ในวงศ์ Boraginaceae เป็นไม้มีพิษ. (๒) ชื่อไม้ต้นชนิด Vatica philastreana Pierre ในวงศ์ Dipterocarpaceae ต้นสีดํา ผลใช้ทํายาได้.

ข้อที่  2.  ข้อใดเขียนถูกอักขรวิธี
ก.  กากบาด
ข.  กากบาท
ค.  กากะบาด
ง.  กากะบาท

วิเคราะห์

คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ข.  
คำว่า “กากบาท” พจนานุกรมเขียนไว้ดังนี้
กากบาท น. ชื่อเครื่องหมายอย่างตีนกา มีรูป + หรือ x ; ใช้ + เป็นเครื่องหมายวรรณยุกต์บอกเสียงจัตวา.

ข้อที่  3.  ข้อใดเขียนถูกอักขรวิธี
ก.  กบฎ
ข.  กฎหมาย
ค.  มงกุฏ
ง.  ปรากฎ

วิเคราะห์

คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ข.  
คำว่า “กฎ” ด ชฎา กับ “กฎ” ต ปฏัก นั้น  ศ.จำนงค์  ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต เขียนไว้ ดังนี้


คำที่เป็นปัญหาในการเขียนของเราอีกคำหนึ่ง ซึ่งก็เป็นคำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตเช่นกัน นั่นคือคำว่า “กฎ” กับ “กฏ” ว่าเมื่อใดจะใช้ ฎ สะกด เมื่อใดจะใช้ ฏ สะกด

คำว่า “กฎ” นั้น ในภาษาบาลีใช้ว่า “กต” (กะ-ตะ) ต เต่า ไม่ใช้ ฏ ปฏัก แปลว่า “กระทำแล้ว” หรือ “อันเขากระทำแล้ว” แต่ ต เต่า กับ ฏ ปฎักนั้น ในภาษาบาลี บางทีก็ใช้แทนกันได้ เช่น “ธัมมปทัฏฐกถา” กับ “ธัมมปทัตถกถา” ที่ “-ทัฏฐ-“ จะใช้ ฏ ซ้อน ฐ หรือ ต ซ้อน ถ ก็ได้ แต่ที่เรานำมาใช้ในภาษาไทยนั้น เรามักใช้ ฎ แทน ฏ เป็นส่วนมาก พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้

 “(โบ) ก. จดไว้เป็นหลักฐาน เช่น ให้นายยกกระบัตรกฎปากหลากคำไว้. (กฎหมายอายัดทาส); ตรา เช่น ตรัสแก่ขุนศรีภูริปรีชาให้กฎเป็นตำราไว้. (อัยการเบ็ดเสร็จ), “พระมหาธรรมราชาก็ตรัสให้กฎลงมาให้เอาพระยารามเป็นพระยาพิชัย”. (พงศ. ๑๑๓๖). (เทียบ ข. กฎตรา = ก. จดหมายเหตุ; จด เช่น กฎบัญชี). น. คำบังคับ เช่น จึ่งสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินก็ตรัสให้ทำตามกฎให้ลงมานั้นทุกประการ. (พงศ. ๑๑๓๖); ข้อกำหนด, ข้อบัญญัติ, เช่น กฎให้ไว้...; (วิทยาศาสตร์) ข้อกำหนดในเรื่องธรรมชาติตามที่ค้นคว้าได้. (อ. law).”

นอกจากนั้นก็มีลูกคำอีก ๑๖ คำ คือ “กฎกระทรวง, กฎเกณฑ์, กฎข้อบังคับ, กฎทบวง, กฎธรรมชาติ, กฎธรรมดา, กฎบัตร, กฎบัตรกฎหมาย, กฎบัตรสหประชาชาติ, กฎมนเทียรบาล, กฎยุทธวินัย, กฎศีลธรรม, กฎเสนาบดี, กฎหมู่, กฎแห่งกรรม, และ กฎอัยการศึก”

ส่วน “กฎหมาย” ซึ่งความจริงเดิมนั้นคำว่า “กฎ” กับ “หมาย” ต่างก็เป็นคำกริยา มีความหมายอย่างเดียวกัน “กฎไว้” กับ “หมายไว้” ก็มีความหมายเท่ากัน ต่อมาเราเอามารวมกันเป็น “กฎหมาย” และใช้เป็นคำนาม แต่เดิมใช้เป็นกริยาก็ได้ คำว่า “กฎหมาย” ท่านเก็บเป็นตัวตั้งไว้ต่างหากจากคำว่า “กฎ” และมีลูกคำอยู่ ๗ คำ คือ “กฎหมายนานาประเทศ, กฎหมายปิดปาก, กฎหมายพาณิชย์, กฎหมายแพ่ง, กฎหมายระหว่างประเทศ, กฎหมายเหตุ, และ “กฎหมายอาญา” ความหมายของคำต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น โปรดดูรายละเอียดได้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕

คำว่า “กฎ” หรือจะมีคำอะไรต่อท้าย “กฎ” อีกก็ตาม ใช้ ฎ สะกดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น กฎศีลธรรม กฎเกณฑ์ กฎกระทรวง กฎบัตรกฎหมาย หรือกฎอะไรก็ตาม คำว่า “กฎ” ในลักษณะเช่นนี้ ถ้าหากเขียนใช้ ฏ สะกด ก็ถือว่าผิด

ส่วนคำว่า “กฏ” ที่ใช้ ฏ สะกด จะใช้ในโอกาสใดนั้น ขอเรียนว่า ที่ใช้ตามลำพังหรือนำหน้าคำอื่น ๆ นั้นไม่มี มีเฉพาะคำว่า “ปรากฏ” เท่านั้น ที่ “กฏ” ต้องใช้ ฏ สะกด ถ้าใช้ ฎ สะกด ถือว่าผิด

คำว่า “ปรากฏ” เขียนตามรูปสันสกฤต แต่ในภาษาสันสกฤตเป็น “ปฺรกฏ” (ปฺระ-กะ-ตะ); มีเสียงสั้น ส่วนบาลีจะเป็น “ปากฏ” (ปา-กะ-ตะ) เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย เราใช้รูปสันสกฤต และทีฆะ อะ เป็น อา คือเขียนเป็น “ปรา” ที่ “ปรา” มี ร เรือกล้ำ เพราะฟังระรื่นหูดีกว่า “ปากฏ” ซึ่งเป็นรูปบาลี ถ้าเราพูดตามรูปบาลีว่า “ปา-กด” ผู้ฟังก็อาจคิดว่าเราพูดไม่ชัด จึงไม่ได้ออกเสียงตัว ร ที่กล้ำอยู่ ทำนองเดียวกับคำว่า “ปกติ” (ปะ-กะ-ติ) ซึ่งเป็นรูปบาลี กับ “ปรกติ” (ปฺรก-กะ-ติ) ซึ่งเป็นรูปสันสกฤตนั่นเอง ถ้าเราอ่าน “ปกติ” เป็น “ปก-กะ-ติ” ผู้ฟังก็คิดว่าเราอ่านผิด ออกเสียงไม่ชัด

ในเรื่องนี้ขอให้กำหนดไว้ว่า ถ้าหากเป็น “กฎ” ไม่ว่าจะเป็นกฎเกี่ยวกับอะไรก็ตาม ใช้ ฎ สะกดทั้งสิ้น แต่ถ้าหากเป็น “ปรากฏ” คือ “กฏ” อยู่ข้างหลัง “ปรา” ต้องใช้ ฏ สะกด ไม่ว่าจะใช้ตามลำพัง เช่น “ปรากฏว่า” หรือ เป็นศัพท์บัญญัติ เช่น “ปรากฏการณ์” (ปฺรา-กด-กาน) ก็ตาม.

ผู้เขียน :  ศ.จำนงค์  ทองประเสริฐ  ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม
ที่มา : ภาษาไทยไขขาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. ๒๕๒๘. หน้า ๒๐๙.

ข้อที่  4.  ข้อใดเขียนถูกอักขรวิธี
ก.  พิศมร
ข.  พิศดาร
ค.  พัศดุ
ง.  พิษณุโลก

วิเคราะห์

คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ง.  
คำอื่นๆ พจนานุกรมเขียนไว้ดังนี้
พิสมร น. เครื่องรางชนิดหนึ่ง รูปสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยมร้อยสาย สําหรับป้องกันอันตราย.
พิสดาร ว. กว้างขวาง, ละเอียดลออ (ใช้แก่เนื้อความ) เช่น ประวัติศาสตร์ฉบับพิสดาร มีความพิสดารดังนี้; (ปาก) แปลกพิลึก เช่น เล่นพิสดาร. (ส. วิสฺตาร; ป. วิตฺถาร).
พัสดุ น. สิ่งของต่าง ๆ, เครื่องใช้ไม้สอย, ที่ดิน, บ้านเรือน. (ส. วสฺตุ; ป. วตฺถุ).

ข้อที่  5.  ข้อใดเขียนถูกอักขรวิธี
ก.  มันสัมปหลัง
ข.  มันสัมปะหลัง
ค.  มัสสำปหลัง
ง.  มันสำปะหลัง

วิเคราะห์

คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ง.  
คำว่า “มันสำปะหลัง” พจนานุกรมเขียนไว้ดังนี้
สำปะหลัง น. ชื่อมันชนิด Manihot esculenta Crantz ในวงศ์ Euphorbiaceae หัวดิบเป็นพิษ, สําโรง ก็เรียก.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น